วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

การวิเคราะห์คุณค่าของวรรณกรรม


 
การวิเคราะห์คุณค่าของวรรณกรรม

๑. ความหมายของการวิเคราะห์วรรณกรรม
การวิเคราะห์ หมายถึง การพิจารณาตรวจตรา แยกแยะและประเมินค่า ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้วิเคราะห์ในการนำไปแสดงความคิดเห็น อภิปรายข้อเท็จจริงให้ผู้อื่นทราบ ด้วยว่าใครเป็นผู้แต่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร มีประโยชน์อย่างไร ต่อใครบ้าง ผู้วิเคราะห์ มีความเห็นอย่างไร เรื่องที่อ่านมีคุณค่าด้านใดบ้างและแต่ละด้านสามารถนำไปประยุกต์
ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง

๒. แนวในการวิเคราะห์วรรณกรรม
การวิเคราะห์วรรณกรรมมีหลักเกณฑ์การปฏิบัติอย่างกว้าง ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมงานเขียนทุกประเภท แต่ละประเภท ผู้วิเคราะห์ต้องนำแนวการวิเคราะห์ไปปรับใช้ ให้เหมาะสมกับงานเขียนแต่ละชิ้นงานซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งประพนธ์ เรืองณรงค์ และคณะ (๒๕๔๕ : ๑๒๘) ได้ให้หลักเกณฑ์กว้าง ๆ ในการวิเคราะห์วรรณกรรม ดังนี้
๒.๑ ความเป็นมาหรือประวัติของหนังสือและผู้แต่ง เพื่อช่วยให้วิเคราะห์ในส่วนอื่น ๆ
๒.๒ ลักษณะคำประพันธ์
๒.๓ เรื่องย่อ
๒.๔ เนื้อเรื่อง ให้วิเคราะห์เรื่องในหัวข้อต่อไปนี้ตามลำดับ โดยบางหัวข้ออาจจะมี หรือไม่มีก็ได้ตามความจำเป็น เช่น โครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก วิธีการแต่ง ลักษณะการเดินเรื่อง การใช้ถ้อยคำ สำนวนในเรื่องท่วงทำนองการแต่ง วิธีคิดสร้างสรรค์ ทัศนะหรือมุมมองของผู้เขียน เป็นต้น
๒.๕ แนวคิด จุดมุ่งหมาย เจตนาของผู้เขียนที่ฝากไว้ในเรื่อง ซึ่งต้องวิเคราะห์ออกมาก
๒.๖ คุณค่าของวรรณกรรม โดยปกติแบ่งออกเป็น ๕ ด้านใหญ่ ๆ และกว้าง ๆ เพื่อความครอบคลุมในทุกประเด็น ซึ่งผู้วิเคราะห์ต้องไปแยกหัวข้อย่อยให้สอดคล้องกับลักษณะ ของหนังสือที่จะวิเคราะห์นั้น ๆ ตามความเหมาะสม

๓. การวิเคราะห์คุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม
ความหมายของการวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรม
การวิเคราะห์ หมายถึง การพิจารณาองค์ประกอบทุกส่วน โดยวิธีแยกแยะรายละเอียดต่าง ๆ ตั้งแต่ถ้อยคำสำนวน การใช้คำ ใช้ประโยค ตลอดจนเนื้อเรื่องและแนวคิด ทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในข้อเขียนนั้น เมื่อวิเคราะห์ส่วนประกอบได้แล้ว จึงวิจารณ์ต่อไป
การวิจารณ์ หมายถึง การพิจารณาเทคนิคหรือกลวิธีที่แสดงออกมานั้นให้เห็นว่าน่าคิด น่าสนใจ น่าติดตาม มีชั้นเชิงยอกย้อนหรือตรงไปตรงมา องค์ประกอบใดมีคุณค่า
น่าชมเชย องค์ประกอบใดน่าท้วงติงหรือบกพร่องอย่างไร การวิจารณ์สิ่งใดจึงต้องใช้ความรู้ มีเหตุผล มีหลักเกณฑ์ และมีความรอบคอบด้วย
การวิจารณ์งานประพันธ์ หมายถึง การพิจารณากลวิธีต่าง ๆ ทุกอย่างที่ปรากฏในงานเขียน ซึ่งผู้เขียนแสดงออกมาอย่างมีชั้นเชิง โดยผู้วิจารณ์จะต้องแสดงเหตุผลที่จะชมเชย หรือชี้ข้อบกพร่องใด ๆ ลงไป

วิธีวิเคราะห์และวิจารณ์งานประพันธ์
ตามปกติแล้วเมื่อจะวิจารณ์สิ่งใด จำเป็นต้องเริ่มวิเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ ให้เข้าใจ ชัดเจนเสียก่อนแล้วจึงวิจารณ์แสดงความเห็นออกมาอย่างมีเหตุผล ให้น่าคิด น่าฟังและ
เป็นคำวิจารณ์ที่น่าเชื่อถือได้
การวิจารณ์งานประพันธ์สำหรับผู้เรียนที่เริ่มต้นฝึกหัดใหม่ ๆ นั้น อาจต้องใช้เวลาฝึกหัด มากสักหน่อย อ่านตัวอย่างงานวิจารณ์ของผู้อื่นมาก ๆ และบ่อย ๆ จะช่วยได้มากทีเดียว เมื่อตัวเราเริ่มฝึกวิจารณ์งานเขียนใด ๆ อาจจะวิเคราะห์ไม่ดี มีเหตุผลน้อยเกินไป คนอื่นเขาไม่เห็นด้วย เราก็ควรย้อนกลับมาอ่านเขียนนั้น ๆ อีกครั้งแล้วพิจารณาเพิ่มเติม วิธีวิเคราะห์ วิจารณ์งานประพันธ์จึงมีลักษณะดังนี้

แผนภูมินี้แสดงขั้นตอนการวิเคราะห์และวิจารณ์ โดยเริ่มต้นที่ผู้อ่านไปอ่านงานวรรณกรรม เมื่ออ่านแล้วจึงวิเคราะห์แยกแยะดูองค์ประกอบต่าง ๆ ลำดับต่อไปนี้จึงวิจารณ์กลวิธีการ
นำเสนอ ว่าน่าสนใจหรือไม่เพียงใด แล้วผู้วิจารณ์จึงเรียบเรียงความคิดเห็นแสดงออกมาด้วยวิธีพูด หรือเขียนวิจารณ์อย่างมีเหตุผล ลูกศรด้านใต้ที่ย้อนกลับมาสู่ผู้อ่านอีกนั้นหมายความว่า แม้นว่า การวิจารณ์จะสิ้นสุดแล้ว แต่ผู้อ่านก็ยังย้อนกลับมาสนใจงานประพันธ์ชิ้นเดิม แล้วเริ่มต้นวิเคราะห์วิจารณ์ใหม่ได้อีกตลอดเวลา

ประเด็นที่ใช้ในการวิเคราะห์และวิจารณ์คุณค่าของงานวรรณคดีและวรรณกรรม
การวิเคราะห์และวิจารณ์งานประพันธ์เท่าที่พบเห็นทั่ว ๆ ไป นักวิจารณ์นิยมพิจารณากว้าง ๆ ๔ ประเด็น
๑) คุณค่าด้านวรรณศิลป์ คือ ความไพเราะของบทประพันธ์ ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ ความรู้สึกและจินตนาการตามรส ความหมายของถ้อยคำและภาษาที่ผู้แต่งเลือกใช้
เพื่อให้มีความหมายกระทบใจผู้อ่าน
๒) คุณค่าด้านเนื้อหาสาระ แนวความคิดและกลวิธีนำเสนอทั้ง ๒ ประเด็นนี้ จะอธิบาย และยกตัวอย่างประกอบพอเข้าใจ โดยจะกล่าวควบกันไปทั้งการวิเคราะห์และการวิจารณ์
๓) คุณค่าด้านสังคม วรรณคดีและวรรณกรรมจะสะท้อนให้เห็นสภาพของสังคมและวรรณคดีที่ดีสามารถจรรโลงสังคมได้อีกด้วย
๔) การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันผู้อ่านสามารถนำแนวคิดและประสบการณ์จากเรื่องที่อ่านไปประยุกต์ใช้หรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้

๓.๑ การพิจารณาคุณค่าด้านวรรณศิลป์
วรรณศิลป์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญซึ่งช่วยส่งเสริมให้วรรณกรรมมีคุณค่าน่าสนใจ คำว่า “วรรณศิลป์” หมายถึง ลักษณะดีเด่นทางด้านวิธีแต่ง การเลือกใช้ถ้อยคำ สำนวน ลีลา
ประโยค และความเรียงต่าง ๆ ที่ประณีต งดงาม หรือมีรสชาติเหมาะสมกับเนื้อเรื่องเป็นอย่างดี วรรณกรรมที่ใช้วรรณศิลป์ชั้นสูงนั้นจะทำให้คนอ่านได้รับผลในทางอารมณ์ความรู้สึก
เช่น เกิดความสดชื่น เบิกบาน ขบขัน เพลิดเพลิน ขบคิด เศร้าโศก ปลุกใจ หรืออารมณ์อะไร ก็ตามที่ผู้เขียนต้องการสร้างให้เกิดขึ้นในตัวผู้อ่าน นั่นคือ วรรณศิลป์ในงานเขียน ทำให้ผู้อ่าน เกิดความรู้สึกในจิตใจและเกิดจินตนาการสร้างภาพคิดในสมองได้ดี
การวิเคราะห์งานประพันธ์จึงควรพิจารณาวรรณศิลป์เป็นอันดับแรกแล้วจึงวิจารณ์ว่ามีคุณค่าหรือน่าสนใจเพียงใดหากงานประพันธ์นั้นเป็นประเภทบทร้อยกรอง ผู้อ่านที่จะ
วิเคราะห์วิจารณ์ ควรมีความรู้บางอย่าง เช่น รู้บังคับการแต่งบทร้อยกรองรู้วิธีใช้ภาษาของกวี รู้วิธีสร้างภาพฝันหรือความคิดของกวี เป็นต้น ความรู้ดังกล่าวนี้จะช่วยให้เข้าใจบทร้อยกรอง
ได้มากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น